วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555


1.ผ้าไทยภาคใต้


  ผ้าที่ทอในบริเวณดินแดนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจรดเขตประเทศมาเลเซีย ที่มีความยาวของพื้นที่ประมาณ ๗๕๐ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นแผ่นดินแคบและคาบสมุทร ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทอดไปตามอ่าวไทย ได้แก่ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกขึ้นไปทางด้านทิศตะวันตกบนผืนแผ่นดินมีเทือกเขาสำคัญที่เป็นสันของคาบสมุทร ได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเชื่อมมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทอดยาวลงไปจนถึงเขตจังหวัดกระบี่ ต่อลงไปเป็นเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวลงไปจนสุดเขตประเทศไทย เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญๆ ของภาคใต้ที่ไหลจากทิศตะวันตกผ่านที่ราบไปสู่ทะเลด้านทิศตะวันออก ทำให้เกิดปากแม่น้ำเป็นอ่าวสำหรับจอดเรือเพื่อการคมมนาคมและท่าเรือประมงได้เป็นอย่างดี เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน และอ่าวสงขลา นอกจากนี้แม่น้ำเหล่านี้ยังนำความชุ่มชื้นไปสู่บริเวณภาคใต้ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมในที่ราบผืนแผ่นดิน ทั้งยังนำโคลนตมไปทับถมกันในบริเวณปากแม่น้ำ ผสานเข้ากับทรายที่เกิดจากการพัดเข้าหาฝั่งของคลื่นลมจากทิศตะวันออก ทำให้เกิดสันทรายที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้เกิดชุมชนตลอดแนวชายผั่งมาแต่โบราณ

   ลักษณะเช่นนี้นอกจากทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดการผสมผสานดันด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะกระจายไปสู่ที่อื่นๆ การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาวและลูกหลานของกรมการเมือง ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ กล่าวกันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้ความสนใจการทอผ้ามาก จนถึงขั้นเคยมีเรื่องหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลาในปีพ.ศ. ๒๓๒๐ เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งให้กรมการเมืองออกไปเกณฑ์เอาช่างทอผ้าซึ่งเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองสงขลา และบุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาไม่พอใจ จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับชาวเมืองสงขลาเกินขอบเขต
                เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วสืบต่อมาเรื่อยๆ จากการทอผ้ายกสำหรับใช้ในหมู่เจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นสูงก่อนที่แพร่หลายไปสู่ชาวเมืองและประชาชนทั่วไป
 ผ้ายกนครศรีธรรมราช
                ผ้ายกนครศรีธรรมราช หรือ ผ้ายกเมืองนครฯ โดยเฉพาะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมากในสมัยโบราณ ผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกประเภทหนึ่งคือ ผ้าทอพุมเรียง ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไชยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร ประชาชนในตำบลพุมเรียงนั้นมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เฉพาะกลุ่มที่ทอผ้านั้นส่วนมากเป็นไทยมุสลิม กล่าวกันว่าถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรีคราวเดียวกับพวกช่างทองและช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช การทอผ้าที่พุมเรียงนั้นแต่เดิมคงจะเป็นการทอผ้าขึ้นใช้ในครัวเรือนและกลุ่มชนของตน
                บริเวณพื้นที่ชายผั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้เป็นบริเวณที่มีวัฒนธรรมผสมกันระหว่างพ่อค้าต่างชาติและคนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน ทำเหมืองแร่และเกษตรกรรม บริเวณจังหวัดตรังเป็นบริเวณหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นมักจะนำวิชาชีพที่ตนมีความชำนาญติดตัวไปด้วยเสมอ จนเมื่อตั้งถิ่นฐานได้อย่างมั่นคงแล้วก็จะประกอบอาชีพและทำงานที่ตนถนัดขึ้นในกลุ่มของตน รวมทั้งการทอผ้าด้วย เช่น ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ
ผ้าบ้านนาหมื่นศรี
ผ้าเกาะยอ
ผ้ายกพุมเรียง
                นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี  ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น

2.ผ้าไทยภาคกลาง


 กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณภาคกลางด้วยสาเหตุทางการเมืองในอดีต และเข้ามาในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปตีล้านช้าง(ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) ได้กวาดต้อนชาวผู้ไทดำ ไททรงดำ ไทดำ หรือไทโซ่งที่เรียกกันทั่วไปว่า ลาวโซ่ง และชาวลาวอื่นๆ จากบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางส่วนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลาง เช่น บางท้องถิ่นในจังหวัดสระบุรี 
นครนายก ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรีและ จันทบุรี

  การอพยพกลุ่มไท-ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ต่างๆ ในบริเวณภาคกลาง เป็นเหตุให้กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาวกระจายไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ เป็นจำนาวนมาก ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่วนมากยังคงทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มตามแบบอย่างและขนบนิยมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แหล่งทอผ้าพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญได้แก่ กลุ่มทอผ้าเชื้อสายไทพวน บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ไทพวนบริเวณตำบลหาดเสี้ยวมาจากเมืองพวน ประเทศลาว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางกลุ่มได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในบางท้องที่ของจังหวัดปราจีนบุรี มหาสารคาม สุพรรณบุรี เป็นต้น
  ผ้าหาดเสี้ยวที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งคือ ซิ่นตีนจก เป็นผ้าทอสำหรับนุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น งานเทศกาลประจำปี งานประเพณี ซิ่นตีนจกมักจะทอด้วยฝ้ายหรือฝ้ายสลับไหมเป็นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลายซึ่งทอด้วยวิธีจก จึงเรียก ซิ่นตีนจก นิยมทอด้วยการคว่ำผ้าลง ลายที่ทอมักเป็นลายเรชาคณิตเป็นหลัก และเรียกชื่อลายต่างๆ กัน เช่น ลายสิบหกดอกตัด ลายแปดขอ ลายสี่ดอกตัด ลายเครือใหญ่ ลายดอกเครือน้อย ลายเหล่านี้มักเป็นลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีลายเล็กๆ ย่อซ้อนอยู่ภายใน การสลับลายใช้การเรียงซ้อนกัน คั่นด้วยหน้ากระดานเป็นชั้นๆ สีที่ใช้นิยมวรรณสีร้อน เช่น สีแดงอมส้ม สีน้ำตาลปนเหลือง ลายเล็กๆ จะย่อเป็นชั้นๆ ลดลงไปเรื่อยๆ และมักสอดไส้ด้วยสีอ่อน ส่วนเชิงล่างสุดหรือสะเปามักเป็นพื้นสีแดง ตีนจกบ้านหาดเสี้ยวมีความประณีตสวยงาม และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเป็นของตนเองที่สืบทอดมาแต่โบราณ ลักษณะซิ่นตีนจกชาวไทพวนบ้านหาดเสี้ยวมีรูปแบบคล้ายกับซิ่นตีนจกของกลุ่มชนเชื้อสายไทพวนในท้องถิ่นอื่น เช่น ซิ่นตีนจกกลุ่มไทพวนในบริเวณจังหวัดพิจิตร อุทัยธานี นอกจากซิ่นตีนจกแล้ว ชาวไทพวนยังทอผ้าซิ่นสำหรับนุ่งอยู่บ้านและนุ่งทำงาน ซิ่นชนิดนี้จึงเป็นซิ่นฝ้ายทอด้วยลวดลายธรรมดา เชิงเป็นแถบสีดำหรือสีแดงอมส้ม
ผ้าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว
                ผ้าพื้นบ้านของกลุ่มไทพวนบ้านหาดเสี้ยวนอกหนือจากทอซิ่นแล้ว ยังทอผ้าชนิดอื่นอีกหลายชนิด เช่น  ผ้าห่มนอน มักเป็นผ้าเนื้อหนาลายตารางอย่างผ้าขาวม้า ทอด้วยฝ้ายเป็นผืนสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมอนผา หรือ หมอนขวาน และหมอนสี่เหลี่ยม ซึ่งมีลายขิดที่หน้าหมอนอย่างหมอนขิดของอีสาน ผ้าขาวม้า  ผ้าฝ้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายตาสี่เหลี่ยม แต่ถ้าเป็นผ้ากราบจะมีลวดลายพิเศษ เป็นรูปสัตว์ที่เชิงผ้า เช่น รูปช้าง ม้า คนขี่ม้า ผ้าชนิดนี้แต่เดิมใช้ในพิธีแต่งงานแล้วเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันประยุกต์เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าห่มคลุมไหล่ขณะออกนอกบ้านไปวัดหรือไปงานพิธีต่างๆ มักทอด้วยฝ้าย ทอด้วยหูกหน้าแคบ จึงต้องใช้สองผืนต่อกันตรงกลาง ที่เชิงมีลายและปล่อยชายผ้าเป็นเส้นครุยแล้วทำเป็นเกลียว ย่าม ถุงใส่ของที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือที่ทอใช้ประจำบ้านกันทั่วไป นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาวมีลายดำเป็นทางยาว มี ๓ ชนาดคือ ย่ามชนาดใหญ่ ใช้ใส่ผ้าและอุปกรณ์การทอผ้า มักแขวนประจำหูกหรือใส่ด้ายที่ยังไม่ได้ย้อม หรือใส่ผ้าที่ทอแล้วไปขาย อีกชนิดหนึ่งเป็นย่ามขนาดกลาง ใช้สะพายติดตัวเดินทาง และชนิดที่สามเป็นย่ามขนาดเล็ก คนชราใช้ใส่ของกระจุกกระจิกติดตัวไปวัด หรือไปร่วมในงานประเพณีต่างๆ
                                                      ผ้าซิ่นตีนจกบ้านไร่
                ผ้าพื้นบ้านชาวไทพวนที่มีลักษณะพิเศษอีกชนิดหนึ่งคือ ผ้าห่มบ้านไร่ เป็นผ้าฝ้ายทอสลับกับไหมพรม นิยมทอหน้าแคบแล้วเพลาะสองผืนรวมกันเป็นผืนเดียว เชิงผ้าจะทอสีขาวแล้วคั่นลายจกด้วยไหมพรมสีสดๆ เป็นแถบเล็กๆสลับกับพื้นขาว ๒-๓ ช่อง ส่วนกลางผืนมักทอด้วยลายขิดไปจนเต็มผืน บางทีทอเป็นริ้วปิดทั้งซ้ายและขวา ลวดลายของเชิงผ้าอาจจะไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง สุดเชิงมักปล่อยเป็นชายครุยเพื่อความสวยงาม
                นอกเหนือจากผ้าพื้นบ้านไทพวนในท้องถิ่นต่างๆ ของภาคกลางดังกล่าวแล้ว ในบริเวณภาคกลางยังมีผ้าทอมือของกลุ่มคนไทยเชื้อสายไทยวนหรือไทโยนก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนบประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยวนหรือคนเมืองในล้านนา เชื่อกันว่าไทยวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางนั้น ส่วนมากอพยพมาจากเมืองเชียงแสนในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลของพม่าที่มักเข้ามาตีเมืองเชียงแสนแล้วใช้เป็นที่สะสมเสบียงก่นอที่จะเข้ามารุกรานหัวเมืองทางเหนือของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้อพยพชาวเมืองไทยวนอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กลุ่มชาวไทยวนบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ผ้าลับแล
                นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางอีกหลายท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวไทพวนที่ยังคงทอผ้าตามแบบประเพณีนิยมของตน ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าในบริเวณอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิษฐ์ ที่เรียกกันว่า ผ้าลับแล โดยเฉพาะซิ่นตีนจกลับแลมีเอกลัษณ์เฉพาะถิ่นคือ ตัวซิ่นนิยมทอเป็นลายขวางลำตัวหรือทอยกเป็นลายเล็กๆ หรือทอเป็นสีพื้นเรียบๆ เช่น สีเขียวลายริ้วดำ ตีนซิ่นนิยมทอเป็นลายจกกว้างหรือสูงขึ้นมามากกว่าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว และไม่นิยมปล่อยพื้นล่างสุดเป็นสีพื้น มักทอเป็นลายจกลงมาจนสุดเชิงผ้า สีของเชิงที่ลายจกมักเป็นสีใกล้เคียงกันแบบที่เรียกว่า สีเอกรงค์(monochrome) ซิ่นตีนจกลับแลเป็นซิ่นที่มีความประณีตสวยงาม ต่างจากซิ่นไทยวนบ้านเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซิ่นไทยวนตำบลดอนแร่ ตำบลคูบัว อำเภอเมือง บ้างบางกระโด อำเภอโพธาราม จ้งหวัดราชบุรี
                กลุ่มทอผ้าชาวไทยวนราชบุรีได้แก่ กลุ่มทอผ้าตำบลคูบัว ตำบลดอนแร่ และกลุ่มทอผ้าบางกระโด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี การทอผ้าของกลุ่มชนเลห่านี้ ยังมีเอกลักษณ์ของผ้าไทยวนชัดเจน แต่ละกลุ่มอาจมีลวดลายเฉพาะที่เป็นรสนิยมของกลุ่มแตกต่างกันไป เช่น
                                               
ผ้าซิ่นตีนจกบ้านคูบัว
               ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มคูบัว ส่วนที่เป็นตีนซิ่นนิยมใช้เส้นยืนสีดำเพื่อให้จกเป็นลายได้ชัดเจน มักใช้สีน้อยเพื่อเน้นลวดลายให้เด่นชัด ความกว้างของเชิงจกประมาณ ๙-๑๑ นิ้ว ลายที่นิยมทอเป็นลายพื้นบ้าน เช่น ลายดอกเซีย ลายโก้งเก้ง ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น
                ผ้าซิ่นตีนจกกลุ่มดอนแร่ แม้จะนิยมทอผ้าซิ่นตีนจกเช่นเดียวกันก็ตาม แต่รายละเอียดของลวดลายและสีสันจะต่างกับซิ่นตีนจกกลุ่มคูบัว ลวดลายคล้ายคลึงกัน แต่จะจกลายติดกันแน่น ทำให้ลายไม่ชัดเจน นิยมใช้สีดำและแดง มักทอเชิงจกกว้างประมาณ ๑๔-๑๕ นิ้ว ซี่งกว้างกว่าตีนจกกลุ่มคูบัว
                ผ้าซิ่นตีนจกกลุ่มหนองโพนิยมทอลายหงส์คู่กินน้ำร่วมต้น รูปแบบคล้ายคลึงกับกลุ่มคูบัว และมีลักษณะคล้ายกับซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในล้านนามาก
                ผ้าทอไทยวนราชบุรีทั้ง ๓ กลุ่ม นอกจากจะทอผ้าซิ่นตีนจกแล้ว ยังทอผ้าชนิดอื่นด้วย เช่น ผ้าซิ่นสำหรับใช้สอยประจำวัน ได้แก่ ซิ่นแหล้ หรือซิ่นสีกรมท่าที่ใช้นุ่งอยู่กับบ้าน ซิ่นตา สำหรับหญิงสาวนุ่งออกงานผ้าเบี่ยง สำหรับคลุมไหล่ นอกจากนี้ก็มีผ้าขาวม้า ผ้าลายต่างๆ
                กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภาคกลางอีกลุ่มหนึ่งคือ ไทดำหรือไทโซ่ง ซี่งอพยพเข้ามาตั้วถิ่นในบริเวณภาคอีสานและภาคกลางหลายระลอก ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะในภาคกลางนั้นส่วนมากจะตั้งถิ่นฐานในหลายท้องถิ่นในจังหวัดใกล้เคียง เช่น บริเวณอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เสื้อก้อม
เสื้อฮี
                เครื่องแต่งกายของชาวไทโซ่งทั้งหญิงและชายนิยมผ้าสีดำ สีกรมท่า และสีคราม โดยเฉพาะผ้านุ่งสตรีหรือซิ่นเป็นผ้าสีกรมท่า มีริ้วเป็นทางขนานกับลำตัวแบบที่เรียกว่า ลายชะโด หรือ ลายแตงโม ส่วนเสื้อที่ใช้สวมในงานพิธีต่างๆ มักเป็นเส้อสีดำหรือสีกรมท่า เช่น เสื้อก้อม ส้วงก้อม ส้วงฮี และเสื้อต๊ก เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวที่ยังไม่ได้ย้อมใช้สวมเมื่อพ่อแม่ถึงแก่กรรม เสื้อฮี เสื้อชนิดนี้จะใช้ผ้าไหมสีสดๆ เย็บตกแต่งเป็นลวดลายที่คอเสื้อและใต้แขน แต่ส่วนมากจะตกแต่งไว้ด้านในของเสื้อ การสวมเสื้อกลับเอาด้านในออกให้เห็นสีสันที่สวยงามเฉพาะงานสำคัญจริงๆ เช่น งานศพของญาติที่ใกล้ชิดกัน นอกจากนี้ยังมีย่ามและกระเป๋าผู้ชายไทดำที่มีรูปแบบบและสีสันสวยงาม
                การทอผ้าใช้เองในกล่มไทโซ่งในปัจจุบันจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการทอผ้าไหมที่ได้
จากการเลี้ยงไหมในครอบครัว เพื่อใช้เส้นใยมาทอเป็นผ้าไหมสีสดๆเอาไว้ตกแต่งเสื้อดังกล่าวแล้ว ส่วนการทอผ้าชนิดอื่นก็ยังมีทออยู่บ้น แต่ส่วนมากจะใช้ด้ายสำเร็จรูป ลวดลายและสีสันของผ้าก็จะเป็นไปตามความนิยมของตลาด
                ผ้าทอพื้นบ้านภาคกลางเคยมีทอกันในหลายท้องถิ่น แต่เมื่อระบบอุตสาหกรรมเข้ามาแทนการทอผ้าด้วยมือ การทอผ้าพื้นบ้านหลายแห่งจึงสูญสลายไป แม้บางแห่งจะยังคงทอกันอยู่บ้าง แต่รูปแบบก็มักเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผ้าทอมือที่บ้านอ่างหินหรืออ่างศิลา เคยเป็นแหล่งทอผ้าสำคัญของภาคตะวันออก ซึ่งทอทั้งผ้าไหม ผ้าม่วง ผ้าตาสมุกที่มีคุณภาพดี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงการทอผ้าซิ่นและผ้าขาวม้า

3.ผ้าไทยภาคอีสาน


ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ ๑๘ จังหวัด ประกอบด้วยกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า ๒๐ ชาติพันธ์ ส่วนมากเป็นกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายไท-ลาว หรือชนเผ่าไท-ลาว ที่คนไทยภาคอื่นมักเรียกว่า  ลาว  เป็นกลุ่มชาติพันธ์ใหญ่สุดของภาคอีสาน  ภาคอีสานมีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด  หรือประมาณ ๑๗๐๒๒๖ ตารางกิโลเมตร กลุ่มไท-ลาวเหล่านี้กรระจายอยู๋ทัวไปแทบทุกจังหวัด  และสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้ กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดเลย  นครราชสีมา และชัยภูมิ มีความใกล้ชิดกับหลวงพระบาง  กลุ่มชนในเขตจังหวัดหนองคาย  อุดรธานี ขอนแก่น มีความใกล้ชิดกับเวียงจันทน์  กลุ่มชนในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์  เป็นกลุ่มผู้ไทหรือภูไท  กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และมหาสารคาม  โน้มเอียงไปทางจำปาสัก  กลุ่มชนในบริเวณภาคอีสานมิได้มีเฉพาะคนไท-ลาวเท่านั้น ยังมีกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ อีกเช่น ข่า กระโส้ กะเลิง ส่วย และเขมร โดยเฉพาะเขมรและส่วยซึ่งกระจายกันอยู่ในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
(กลุ่มไทย-ลาว)
                การตั้งถิ่นฐานในบริเวณภาคอีสานของกลุ่มชนเผ่าไทเชื้อสายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มไท-ลาว เป็นกลุ่มชนที่มีก่รผลิตผ้าพื้นบ้านของอีสานแพร่หลายที่สุด แต่ยังแยกเป็นกลุ่มย่อยตามวัฒนธรรมได้อีกหลายกลุ่ม เช่น ลาวกาว ลาวพวน ลาวโซ่ง ลาวคั่ง กลุ่มชนเหล่านี้มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่วัฒนธรรมการทอผ้าและการใช้ผ้าอาจแตกต่างกันบ้าง กลุ่มชนเหล่านี้มีชาติพันธ์เดียวกันและมีถิ่นกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง  ตั้งแต่เขตเมืองสิงห์ทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ลงมาจนถึงแคว้นสิบสองจุไทหรือเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนาม  ครอบคลุมลงมาถึบริเวณแคว้นตรันนินท์ของญวน  ชนกลุ่มนี้ได้ร่วมก่อสร้างเมืองขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ มาช้านานแล้ว เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ในทำนองที่มีความสัมพันธ์กับตำนานแล้วจะเห็นว่า   แหล่งกำเนิดของคนที่ต่อมากลายเป็นคนไท ลาว ญวน และฮ่อนั้นมาจากบริเวณกลุ่มแม่น้ำดำ  แคว้นสิบสองจุไท  แล้วกระจายไปยังลุ่มน้ำต่างๆ กลุ่มหนึ่งมาทางลุ่มแม่น้ำโขงทางด้านตะวันตกและทางด้านใต้คือพวกไท-ลาว  และได้สร้างอาณาจักรล้านช้างขึ้นที่หลวงพระบาง  มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งร่วมสมัยกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ แห่งกรุงสุโขทัย  พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง  ตีได้เมืองเวียงจันทน์  เวียงคำ  เมืองโคตรบอง  และบางส่วนของลุ่มแม่น้ำชีในภาคอีสาน  ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มถูกปลดออกจากราชสมบัติและหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองน่าน  โอรสชื่อเท้าอุ่นเรือนได้ครองราชย์แทนทรงพระนามว่า  พรเจ้าสามแสนไท  ต่อมาเป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่ง  พงศาวดารล้านช้างระบุว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่  สมัยพระเจ้าสามแสนไทตรงกับรัชกาลสมเด็จะรเจ้าบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว พ.ศ. ๑๙๑๓ – ๑๙๓๑) รัชกาลของพระเจ้าสามแสนไทเป็นช่วงเวลาที่ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคอีสาน  มีทั้งที่ตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่และพวกที่อยู่ปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิม
                อาณาจักรล้านช้างมีกษัตริย์วสืบต่อมาทั้งที่สร้างความเจริญให้บ้านเมืองและบางครั้งก็ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนเกิดความแตกแยกออกเป็นกลุ่มเป็นแคว้น  จนถึงสมัยกรุวธนบุรี  ลาวได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆ ๓ แคว้น  คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก  ต่างฝ่ายต่างแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก  เช่น สยาม ญวน ทำให้ลาวอ่อนแอ จนในที่สุดทั้งสามแคว้นก็ตกเป็นเมืองขึ้นของสยามทั้งหมด
(ผ้าฝ้ายมัดหมี่ลายดอกบีบ จ.พิษณุโลก)
                ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตรงกับรัชกาลเจ้าอนุวงศ์ของลาวเกิดความขัดแย้งแตกแยกกัน  ทำให้ลาวบางกลุ่มหนีเข้ามาลี้ภัยในบริเวณภาคอีสานสยามให้การสนับสนุนเพราะถือว่าลาวเป็นประเทศราช  จีงส่งเสริมให้มีการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านเป็นเมืองขึ้นเพื่อขยายประเทศ  อันมีผลต่อการเก็บส่วยและเกณฑ์คนเข้ามารับราชการและใช้แรงงาน  เป็นเหตุให้เกิดเมืองต่าง ๆ ขึ้นในภาคอีสาน  แต่ภายหลังชาวลาวที่เข้ามาอยู่ในภาคอีสานเกิดความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์จนเป็นสงครามลุกลามถึงกรุงเทพฯ เกิดเป็นสงครามระหว่างสยามกับลาว  สุดท้ายลาวฝ่ายเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้  เจ้าอนุวงศ์และครอบครัวถูฏจับเป็นเชลยมายังกรุงเทพฯ  สงครามครั้งนั้นส่งผลให้ประชาชนหลายเผ่าพันธ์ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย  บางกลุ่มโยกย้ายไปอยู่ในเขตญวน  บางกลุ่มโยกย้ายเข้ามาในเขตไท  และบางพวกถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในบริเวณภาคกลาง  เช่น บริเวณจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี กำแพงเพชร ปราจีนบุรี  ฉะเทริงเทรา และนครนายก  จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า  ชาวลาวได้เข้าสู่ดินแดนไทย ๒ ลักษณะ คือ พวกแรกอพยพเข้ามาลี้ภัยตั้งบ้านเมือง  ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในบริเวณภาคอีสาน กลุ่มที่สองถูกกวาดต้อนเข้ามาระหว่างสงคราม  ส่วนมากจะถูกนำมาภาคกลาง  แล้วกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดของภาคกลาง
                รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดการปกครองหัวเมืองภาคตะวันออกเป็นหัวเมืองประเทศราช  ๓ เมือง คือ เวียงจันทน์ นครพนม นครจำปาสัก ให้เมืองนครราชสีมาปกครองเมืองเขมรป่าดง  และเมืองที่ไม่ขึ้นกับประเทศราชทั้งสาม  โดยอนุโลมให้หัวเมืองประเทศราชปกครองกันเองตามธรรมเนียมราชการเดิม  ไม่เข้าไปทำกิจกรรมภายใน  เพียงให้ส่งเครื่องราชบรรณการตามที่กำหนดเท่านั้น  ลักษณะเช่นนี้ปฏิบัติกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ชุมชนลาวที่เข้ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ในภาคอีสานนั้นยังคงรับวัฒนธรรมจากล้านช้างเรื่อยมา  เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ เอื้ออำนวยให้ติดต่อใกล้ชิดกันได้สะดวกมากกว่า  เนื่องจากมีเพียงแม่น้ำโขงกั้นเท่านั้น  ประกอบกับอำนาจทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและต้นรัตนโกสินทร์ยังไปไม่ถึงดินแดนภาคอีสาน  จึงทำให้ผู้คนแถบล้านช้างที่เข้ามาอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในภาคอีสานของสยามในสมัยนั้น  ไม่ค่อยมีความรู้สึกผูกพันธ์กัยราชสำนักมากนักจนราชสำนักกรุงเทพฯ ต้องจัดส่งข้าหลวงใหญ่ไปปกครองโดยตรงที่เมืองอุบลราชธานีในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เพราะราษฎรในแถบนั้นไม่ยอมรเสียส่วยให้กับทางราชการ โดยอ้างว่าไม่ใช่คนไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนอีสานในระยะนั้นมุ่งผลทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ไม่สนใจเรื่องการผลิตฝ้ายและไหมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ต่างๆ เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่การผลิตฝ้ายและไหมในภาคอีสานรับวัฒนธรรมจากล้านช้างซึ่งทำใช้กันเอง ส่วนราชสำนักสั่งซื้อผ้าจากต่างประเทศมาใช้
                ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาด้วยเหตุผลทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๕ กระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ทราบว่ามีแหล่งเลี้ยงไหมอยู่ในภาคอีสานเป็นเวลานานแล้ว เพราะจากรายงานการตรวจการมณฑลนครราชสีมาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๖) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พบแต่เพียงว่าสินค้าส่งออกของท้องถิ่นภาคอีสานมีแต่พวกของป่าในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่มีสินค้าพวกผ้าไหม ไหมดิบ และไหมอื่นๆ เลย
                ต่อมาเมื่อประเทศไทยยอมรับคำแนะนำของฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตโดยถือระบบการค้าไหมดิบของญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างแล้ว จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญคือ คาเมทาโร โตยามา (Kametaro Toyama) เข้ามาสำรวจการเลี้ยงและผลิตไหมในภาคอีสานที่นครราชสีมา ในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ฝ่ายราชการของไทยคือกระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงมหาดไทยต้องรอคอยรายงานการสำรวจของโตยามา เพราะไม่รู้ว่ามีการลุ้นยงและผลิตไหมในภาคอีสานมาก่อนดังกล่าวแล้ว จนเมื่อได้รับรายงานแล้วจึงรู้ว่าเกือบทุกหมู่บ้านของภาคอีสานมีการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายด้วยวิธีมัดหมี่ ขิด จก ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว
(ชาวผู้ไท หรือ ภูไท)
                นอกจากกลุ่มชนเชื้อสายลาวซึงมีวัฒนธรรมการทอผ้าเป็นกลุ่มชนใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ กรรมวิธี และรูปแบบของผ้าเป็นของตนเองแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าปรากฏมาจปัจจุบันอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ไทและกลุ่มชนเชื้อสายเขมร กลุ่มผู้ไท ทั้งผู้ไทดำ ผู้ไทขาว และผู้ไทแดงเคยอยู่ในดินแดนล้านช้างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยกัน ก่อนอพยพเข้าสู่ภาคอีสานในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชนกลุ่มน้อยในภาคอีสานที่มีลักษณะพิเศษคือ  ชอบอยู่เป็นกลุ่มอย่างโดดเดี่ยวเป็นอิสระในกลุ่มเผ่าพันธ์ของตนเอง  แต่เมื่ออยู่ร่วมกันมาก่อนเป็นเวลานาน  จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรรม  ประเพณี และความเชื่อบางอย่างกับพวกกลุ่มลาวอยู่ไม่น้อย  เมื่อเข้ามาอยู่ในภาคอีสานแล้วก็มีการอพยพเคลื่อนย้ายกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ราบเชิงเขา และบนเขาในเขตจังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธิ์  ชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมในการทอผ้าที่ค่อนข้างเด่นทั้งด้านสีสันและเทคนิควิธีการทอ
                กลุ่มเขมรหรือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานที่กระจายอยู่ทางแถบจังหวัดสุรินทร์  ศรีษะเกษ และบุรีรัมย์ หรืออีสานใต้ ชนกลุ่มนี้อพยพมาจากประเทศเขมรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ไล่เลี่ยกันกับพวกส่วย (กวยหรือกุย) ปัจจุบันหลายหมู่บ้านมีทั้งลาว เขมร และส่วยอยู่ร่วมกัน แต่ละกลุ่มมีการทอผ้าที่เป็นลักษณะพิเศษเป็นของงตนเอง
                โดยทั่วไปชาวอีสานมีสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา  ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่เพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวประมาณ ๗-๙ เดือน ในแต่ละปีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเวลาในช่วงฤดูร้อนประมาณ ๓ – ๕ เดือนที่ว่าง  ชาวอีสานจะทำงานทุกอย่างเพื่อเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำบุญประเพณีและการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่าง ๆ เป็นวงจรของการดำรงชีพที่หมุนเวียนเช่นนี้ในแต่ละปี
(การสาวไหม)
                “ยามว่างจากงานในนา  ผ็หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน ” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน  ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง  ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม  ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าพระเวสส์
                กระบวนการทอผ้าเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหม  ปลูกหม่อน ปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้า เริ่มลงมือทอผ้า  ซึ่งมีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า ลงข่วง
(ผ้ามัดหมี่ไทลาว)
                การทอผ้าที่สำคัญของชาวอีสาน คือ การทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ในครัวเรือน  ผ้าซิ่นของกลุ่มไท-ลาวนิยมใช้ลายขนานกับลำตัวต่างกับซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางลำตัวและนุ่งยาวกรอมเท้า  ชาวไท-ลาวอีสานนิยมนุ่งสูงระดับเข่าหรือเหนือเข่า  การต่อหัวซิ่นและตีนซิ่น ถ้าเป็นซิ่นไหมจะต่อตีนซิ่นด้วยไหม  แต่ถ้าเป็นซ่นฝ้ายก็จะต่อด้วยฝ้าย  ตีนซิ่นจะมีขนาดแคบ ๆ ไม่นิยมเชิงใหญ่  หัวซิ่นนิยมต่อด้วยผ้าไหมชิ้นเดียวทอขิดเป็นลายโบกคว่ำและโบกหงาย  ใช้สีขาวหรือสีแดงเป็นพื้น  ใช้ได้ทั้งกับผ้าซิ่นไหมหรือซิ่นฝ้าย  การต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ  เวลานุ่งตะเข็บหนึ่งอยู่ข้างหลังสะโพก  ต่างกับการนุ่งซุ่นของชาวล้านนาหรือชาวไทยญวนที่นิยมนุ่งผ้าลายขวางที่มีสองตะเข็บ   เวลานุ่งจึงมีตะเข็บหนี่งอยู่ข้างหลังสะโพก  ไม่เหมือนกับซิ่นของชาวลาวซึ่งซ่อนตะเข็บไว้ด้านหน้าจนไม่เห็นตะเข็บ  สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เป็นประเพณีต่อกันมาแต่อดีต
(ผ้าห่อคัมภีร์)
               (โฮงหมี่)
(ผ้ามัดหมี่บ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ)
                ผ้าพื้นบ้านของกลุ่มอีสานไท-ลาว ผู้ไท เขมร ที่รู้จักกันทั่วไป คือ ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าจก และผ้าพื้น
(ผ้าไหมมัดหมี่)
               (ผ้าปูม)
(ผ้าโฮลเปราะฮ์)
(ผ้าหางกระรอก)
                (ผ้าแพวา หรือ แพรวา)
(ผ้าแพมน)
              

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

4.ผ้าไทยภาคเหนือ

 ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ ผ้าของกลุ่มชนทั้งสอง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องบูชาตามความเชื่อที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้านุ่งผู้หญิงของกลุ่มไทยวนและไทลื้อมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกัน แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่


(ซิ่นไทยวน อำเภอแม่แจ่ม)
                -หัวซิ่น ส่วนที่อยู่ติดกับเอว มักใช้ผ้าพื้นสีขาว สีแดง หรือสีดำต่อกับตัวซิ่นเพื่อให้ซิ่นยาวพอดีกับความสูงของผู้นุ่ง และช่วยให้ใช้ได้คงทน เพราะเป็นชายพกต้องขมวดเหน็บเอวบ่อยๆ
                -ตัวซิ่น ส่วนกลางของซิ่น กว้างตามความกว้างของฟืม ทำให้ลายผ้าขวางลำตัว มักทอเป็นริ้วๆ มีสีต่างๆ กัน เช่น ริ้วเหลืองพื้นดำ หรือทอยกเป็นตาสีเหลี่ยม หรือทอเป็นลายเล็กๆ
                -ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด อาจเป็นสีแดง สีดำ หรือทอลายจกเรียก ซิ่นตีนจก ชาวไทยวนนิยมทอตีนจกแคบ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มักทอลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง เชิงล่างสุดเป็นสีแดง ซิ่นตีนจกของคหบดีหรือเจ้านายมักสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองให้สวยงามยิ่งขึ้น
                การนุ่งซิ่นและห่มสไบเป็นการแต่งกายที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวเหนือแทบทุกกลุ่ม แต่รูปแบบของซิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละกลุ่ม เช่น ชาวไทลื้อในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน โดยเฉพาะกลุ่มไทลื้อ จังหวัดน่าน มีแบบแผนการทอผ้าซิ่นและการสร้างลวดลายที่สำคัญ ๓ ประเภท คือ
(ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน)
                ๑. ลายล้วงหรือเกาะ คือ การสร้างลายด้วยวิธีล้วงด้วยมือ คือใช้เส้นด้ายสีต่างๆ สอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามจังหวะที่กำหนดให้เป็นลายคล้ายการสานขัด จากนั้นจะใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผ้าลายล้วงที่มีชือเสียงคือ ผ้าลายน้ำไหล หรือ ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน ซึ่งเกิดจากการล้วงให้ลายต่อกันเป็นทางยาว เว้นระยะเป็นช่วงๆ คล้ายคลื่น นอกจากผ้าลายล้วงยังมีลายอื่นๆ ที่เรียกชื่อตามลักษณะลาย เช่น ลายใบมีด หรือลายมีดโกน เป็นลายที่เกิดจากการล้วงสอดสีด้ายหลายๆ สีให้ห่างกันเป็นช่วงๆ เหมือนใบมีดบางๆ ลายจรวดมีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายน้ำไหลสายรุ้งเป็นลายที่พัฒนามาจากลายน้ำไหลโดยคั่นด้วยการสอดสี ลายไส้ปลา เป็นลายที่มีหลายสีคล้ายสีรุ้ง แล้วคั่นด้วยการเก็บมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกลายดอกหมาก มุกข้าวลีบ ลายกำปุ้งหรือลายแมงมุม พัฒนาจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันตรงกลาง เติมลายเล็กๆ โดยรอบเป็นขาคล้ายแมงมุม ต่อมาพัฒนาเป็นลายอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ลายดอกไม้ ลายปู ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากกรรมวิธีในการล้วงทั้งสิ้น หากแต่ละลายจะดัดแปลงปสมกับกรรมวิธีอื่นเพื่อให้ได้ลวดลายที่ต่างกันออกไป
(ซิ่นมุกต่อตีนจก ชาวไทพวน)
                ๒.ลายเก็บมุก คือ การสร้างลวดลายด้วยการทอคล้ายกับการเก็บขิดของอีสาน ไม่ได้ล้วงด้วยมือ แต่จะเก็บลายด้วยไม้ไผ่เหลากลมปลายไม่แหลม เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอดเส้นด้ายด้วยไม้เก็บลายชนิดต่างๆ ตามแม่ลายที่จะเก็บ ลายชนิดนี้เรียกชื่อต่างกันไปตามความนิยมท้องถิ่น
(ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน)
                ๓.ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน คือการสร้างลวดลายที่ใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ การคาด(มัด) ก่อนย้อมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลาย คล้ายลายมัดหมี่ ลายคาดก่านมักประดิษฐ์เป็นลวดลายเล็กๆ ไม่พัฒนาลวดลายเหมือนลายน้ำไหล
                กรรมวิธีในการทอผ้าให้เป็นลวดลายประเภทต่างๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้กับผ้าทอที่ต้องการใช้สอยในลักษณะที่ต่างกันไป โดยเฉพาะซิ่นไทลื้อเมืองน่าน หรือ ซิ่นน่าน มีลวดลายและสีเด่น เพราะทอด้วยไหมเป็นริ้วไหญ่ๆ สลับสีประมาณสามหรือสี่สี ส่วนตีนซิ่นมีสีแดงเป็นแถบใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มคั่นด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง หรือไหมคำสลับเพื่อให้เกิดความวาวระยับ บางทีแต่ละช่วงจะคั่นด้วยลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น เรียกต่างออกไปตามลักษณะของลาย เช่น ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็ม ซิ่นล้วง ซิ่นลายน้ำไหล
(ซิ่นป้อง)

(ซิ่นล้วง)
                นอกจากนี้ซิ่นชนิดต่างๆ และกรรมวิธีในการสร้างลวดลายประเภทต่างๆ ตามลักษณะพื้นบ้านแล้ว ยังมีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีความงดงามสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอีกหลายชนิด เช่น ผ้าแหลบ หรือผ้าหลบ หรือผ้าปูที่นอน ที่นิยมทอเป็นลายทั้งผืนหรือลายเฉพาะบางส่วน เช่น เชิงทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง หรือดอกไม้เรียงเป็นแถว เชิงล่างปล่อยเส้นฝ้ายลุ่ยหรือถักเป็นเส้นตาข่ายเพื่อความสวยงาม
(ผ้าหลบ)
ผ้าหลบหรือผ้าห่มนี้มักทอเป็นลวดลายเรขาคณิตคล้ายลายขิด ส่วนมากจะทอเป็นผืนเล็กๆ หน้าแคบ เพื่อความสะดวกในการทอก่อน แล้วจึงเย็บผนึกต่อกันเป็นผืน คล้ายกับผ้าห่มหรือผ้าห่มไหล่ของชาวลาว แต่ผ้าหลบนิยมทอตัวลายด้วยสีแดงและดำ ผ้าหลบปละผ้าเก็บมุกที่ใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยวิธีการนี้ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย
                นอกเหนือจากการทอผ้าของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนและไทลื้อที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นดังกล่างแล้ว ในบริเวณภาคเหนือยังมีผ้าที่มีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าย้อมครามหรือสีกรมท่า ย้อมจากต้นครามหรือต้นห้อม เรียก ผ้าหม้อห้อม ใช้สำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อและกางเกง ทำกันมากที่ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
(จิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ แสดงการแต่งกายและวิถีชีวิตชาวล้านนา)
(จิตรกรรมวิหารวัดภูมินทร์  แสดงการแต่งกายของชาวเมือง ผู้หญิงนุ่งซิ่นป้อง ทอลายขิด และผ้าซิ่นมัดก่านลายมัดหมี่หรือคาดก่าน)

                ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในภาคเหนือ มีรูปแบบของการใช้เครื่องนุ่งห่มที่คล้ายคลึงกันคือ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ลายขวางลำตัว มักเป็นซิ่นสีพื้นมีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำเป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นมีทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดง เป็นแถบใหญ่ๆ ไม่มีลวดลาย ส่วนที่มีลวดลายจกแบบที่เรียกว่าตีนจกนั้น จะมีเฉพาะสตรีที่มีฐานนะและสตรีชั้นสูงเป็ฯส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้ารัดอกหรือห่มสไบเฉียง หรือใช้ผ้าคล้องคอห้อยสองชายลงมาข้าหน้า สูบบุหรี่ไชโยมวนโต แต่ก็มีในบางแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นหญิงสาวผู้ดีสวมเสื้อแขนยามคล้ายเสื้อคลุมสวมทับเสื้อชั้นในอีกทีหนึ่ง คงเป็นการแต่งกายที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ทรงผมนิยมไว้ผมยาวเกล้าสูงเป็นมวยไว้กลางศีรษะ รัดเกี้ยวมีปิ่นปัก บางทีดัดจอนผมยาวงอน สตรีชั้นสูงนิยมนุ่งซิ่นไหม ลายขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง เชิงซิ่นเป็นลวดลายจก แต่ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะนุ่งตีนจก ส่วนการสวมเสื้อแทนผ้ารัดอกหรือผ้าสไบคงเกิดขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
                นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในภาคเหนือยังทอผ้าสำหรับใช้สอยอีกหลายอย่าง เช่นผ้าหลบ ผ้าแซงแดง ผ้าแซงดำ ผ้าแหล็บ ผ้ากั้ง ผ้ามุ้ง ผ้าขาวม้า ผ้าล้อ ผ้าปกหัวนาค ย่าม ผ้าห่ม ฯลฯ
(ผ้ากั้งไทแดง แขวงหัวพัน ประเทศลาว ใชักั้นประตู)
                ผ้าพื้นบ้านภาคเหนืออีกประเภทหนึ่งเป็นผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ตุง หรือธงที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงไจ ตุงสามหาง
(ตุง)
                ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านในภาคเหนือยังทอกันอยู่ในหลายท้องถิ่น เช่น ในบริเวณอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และในหลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจากกรรมวิธีพื้นบ้านโบราณหลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าอีกหลายกลุ่มกระจายอยู่หลายจังหวัด เช่น กลุ่มทอผ้าอำเภอลอง จังหวัดแพร่ กลุ่มทอผ้าไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
(ซิ่นกะเหรี่ยง)
                ผ้าพื้นเมืองภาคเหนืออีกประเภทหนึ่ง คือ ผ้าทอมือกลุ่มน้อย เช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และผ้าทอของชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ผ้าทอเปล่านี้จะมีรูปแบบและกรรมวิธีในการทอที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมและขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาในกลุ่มของตน เช่น ผ้ากะเหรี่ยง นิยมทอลายขวางเป็นชิ้นเล็กๆ สีแดงและดำ เมื่อนำมาทอเครื่องนุ่งห่มจะเย็บต่อกันจนมีขนาดตามความต้องการ ส่วนชาวไทยภูเขานั้นมีกรรมวิธีในการทอผ้าต่างออกไป มักหน้าแคบ ตกแต่งเป็นลวดลายด้วยการปัก ประดับเครื่องเงิน ลูกปัด เพื่อเพิ่มสีสันให้งดงาม