วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

4.ผ้าไทยภาคเหนือ

 ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ ผ้าของกลุ่มชนทั้งสอง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องบูชาตามความเชื่อที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้านุ่งผู้หญิงของกลุ่มไทยวนและไทลื้อมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกัน แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่


(ซิ่นไทยวน อำเภอแม่แจ่ม)
                -หัวซิ่น ส่วนที่อยู่ติดกับเอว มักใช้ผ้าพื้นสีขาว สีแดง หรือสีดำต่อกับตัวซิ่นเพื่อให้ซิ่นยาวพอดีกับความสูงของผู้นุ่ง และช่วยให้ใช้ได้คงทน เพราะเป็นชายพกต้องขมวดเหน็บเอวบ่อยๆ
                -ตัวซิ่น ส่วนกลางของซิ่น กว้างตามความกว้างของฟืม ทำให้ลายผ้าขวางลำตัว มักทอเป็นริ้วๆ มีสีต่างๆ กัน เช่น ริ้วเหลืองพื้นดำ หรือทอยกเป็นตาสีเหลี่ยม หรือทอเป็นลายเล็กๆ
                -ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด อาจเป็นสีแดง สีดำ หรือทอลายจกเรียก ซิ่นตีนจก ชาวไทยวนนิยมทอตีนจกแคบ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มักทอลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง เชิงล่างสุดเป็นสีแดง ซิ่นตีนจกของคหบดีหรือเจ้านายมักสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองให้สวยงามยิ่งขึ้น
                การนุ่งซิ่นและห่มสไบเป็นการแต่งกายที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวเหนือแทบทุกกลุ่ม แต่รูปแบบของซิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละกลุ่ม เช่น ชาวไทลื้อในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน โดยเฉพาะกลุ่มไทลื้อ จังหวัดน่าน มีแบบแผนการทอผ้าซิ่นและการสร้างลวดลายที่สำคัญ ๓ ประเภท คือ
(ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน)
                ๑. ลายล้วงหรือเกาะ คือ การสร้างลายด้วยวิธีล้วงด้วยมือ คือใช้เส้นด้ายสีต่างๆ สอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามจังหวะที่กำหนดให้เป็นลายคล้ายการสานขัด จากนั้นจะใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผ้าลายล้วงที่มีชือเสียงคือ ผ้าลายน้ำไหล หรือ ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน ซึ่งเกิดจากการล้วงให้ลายต่อกันเป็นทางยาว เว้นระยะเป็นช่วงๆ คล้ายคลื่น นอกจากผ้าลายล้วงยังมีลายอื่นๆ ที่เรียกชื่อตามลักษณะลาย เช่น ลายใบมีด หรือลายมีดโกน เป็นลายที่เกิดจากการล้วงสอดสีด้ายหลายๆ สีให้ห่างกันเป็นช่วงๆ เหมือนใบมีดบางๆ ลายจรวดมีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายน้ำไหลสายรุ้งเป็นลายที่พัฒนามาจากลายน้ำไหลโดยคั่นด้วยการสอดสี ลายไส้ปลา เป็นลายที่มีหลายสีคล้ายสีรุ้ง แล้วคั่นด้วยการเก็บมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกลายดอกหมาก มุกข้าวลีบ ลายกำปุ้งหรือลายแมงมุม พัฒนาจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันตรงกลาง เติมลายเล็กๆ โดยรอบเป็นขาคล้ายแมงมุม ต่อมาพัฒนาเป็นลายอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ลายดอกไม้ ลายปู ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากกรรมวิธีในการล้วงทั้งสิ้น หากแต่ละลายจะดัดแปลงปสมกับกรรมวิธีอื่นเพื่อให้ได้ลวดลายที่ต่างกันออกไป
(ซิ่นมุกต่อตีนจก ชาวไทพวน)
                ๒.ลายเก็บมุก คือ การสร้างลวดลายด้วยการทอคล้ายกับการเก็บขิดของอีสาน ไม่ได้ล้วงด้วยมือ แต่จะเก็บลายด้วยไม้ไผ่เหลากลมปลายไม่แหลม เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอดเส้นด้ายด้วยไม้เก็บลายชนิดต่างๆ ตามแม่ลายที่จะเก็บ ลายชนิดนี้เรียกชื่อต่างกันไปตามความนิยมท้องถิ่น
(ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน)
                ๓.ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน คือการสร้างลวดลายที่ใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ การคาด(มัด) ก่อนย้อมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลาย คล้ายลายมัดหมี่ ลายคาดก่านมักประดิษฐ์เป็นลวดลายเล็กๆ ไม่พัฒนาลวดลายเหมือนลายน้ำไหล
                กรรมวิธีในการทอผ้าให้เป็นลวดลายประเภทต่างๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้กับผ้าทอที่ต้องการใช้สอยในลักษณะที่ต่างกันไป โดยเฉพาะซิ่นไทลื้อเมืองน่าน หรือ ซิ่นน่าน มีลวดลายและสีเด่น เพราะทอด้วยไหมเป็นริ้วไหญ่ๆ สลับสีประมาณสามหรือสี่สี ส่วนตีนซิ่นมีสีแดงเป็นแถบใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มคั่นด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง หรือไหมคำสลับเพื่อให้เกิดความวาวระยับ บางทีแต่ละช่วงจะคั่นด้วยลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น เรียกต่างออกไปตามลักษณะของลาย เช่น ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็ม ซิ่นล้วง ซิ่นลายน้ำไหล
(ซิ่นป้อง)

(ซิ่นล้วง)
                นอกจากนี้ซิ่นชนิดต่างๆ และกรรมวิธีในการสร้างลวดลายประเภทต่างๆ ตามลักษณะพื้นบ้านแล้ว ยังมีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีความงดงามสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอีกหลายชนิด เช่น ผ้าแหลบ หรือผ้าหลบ หรือผ้าปูที่นอน ที่นิยมทอเป็นลายทั้งผืนหรือลายเฉพาะบางส่วน เช่น เชิงทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง หรือดอกไม้เรียงเป็นแถว เชิงล่างปล่อยเส้นฝ้ายลุ่ยหรือถักเป็นเส้นตาข่ายเพื่อความสวยงาม
(ผ้าหลบ)
ผ้าหลบหรือผ้าห่มนี้มักทอเป็นลวดลายเรขาคณิตคล้ายลายขิด ส่วนมากจะทอเป็นผืนเล็กๆ หน้าแคบ เพื่อความสะดวกในการทอก่อน แล้วจึงเย็บผนึกต่อกันเป็นผืน คล้ายกับผ้าห่มหรือผ้าห่มไหล่ของชาวลาว แต่ผ้าหลบนิยมทอตัวลายด้วยสีแดงและดำ ผ้าหลบปละผ้าเก็บมุกที่ใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยวิธีการนี้ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย
                นอกเหนือจากการทอผ้าของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนและไทลื้อที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นดังกล่างแล้ว ในบริเวณภาคเหนือยังมีผ้าที่มีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าย้อมครามหรือสีกรมท่า ย้อมจากต้นครามหรือต้นห้อม เรียก ผ้าหม้อห้อม ใช้สำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อและกางเกง ทำกันมากที่ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
(จิตรกรรมวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ แสดงการแต่งกายและวิถีชีวิตชาวล้านนา)
(จิตรกรรมวิหารวัดภูมินทร์  แสดงการแต่งกายของชาวเมือง ผู้หญิงนุ่งซิ่นป้อง ทอลายขิด และผ้าซิ่นมัดก่านลายมัดหมี่หรือคาดก่าน)

                ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในภาคเหนือ มีรูปแบบของการใช้เครื่องนุ่งห่มที่คล้ายคลึงกันคือ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ลายขวางลำตัว มักเป็นซิ่นสีพื้นมีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำเป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นมีทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดง เป็นแถบใหญ่ๆ ไม่มีลวดลาย ส่วนที่มีลวดลายจกแบบที่เรียกว่าตีนจกนั้น จะมีเฉพาะสตรีที่มีฐานนะและสตรีชั้นสูงเป็ฯส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้ารัดอกหรือห่มสไบเฉียง หรือใช้ผ้าคล้องคอห้อยสองชายลงมาข้าหน้า สูบบุหรี่ไชโยมวนโต แต่ก็มีในบางแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นหญิงสาวผู้ดีสวมเสื้อแขนยามคล้ายเสื้อคลุมสวมทับเสื้อชั้นในอีกทีหนึ่ง คงเป็นการแต่งกายที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ทรงผมนิยมไว้ผมยาวเกล้าสูงเป็นมวยไว้กลางศีรษะ รัดเกี้ยวมีปิ่นปัก บางทีดัดจอนผมยาวงอน สตรีชั้นสูงนิยมนุ่งซิ่นไหม ลายขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง เชิงซิ่นเป็นลวดลายจก แต่ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะนุ่งตีนจก ส่วนการสวมเสื้อแทนผ้ารัดอกหรือผ้าสไบคงเกิดขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
                นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในภาคเหนือยังทอผ้าสำหรับใช้สอยอีกหลายอย่าง เช่นผ้าหลบ ผ้าแซงแดง ผ้าแซงดำ ผ้าแหล็บ ผ้ากั้ง ผ้ามุ้ง ผ้าขาวม้า ผ้าล้อ ผ้าปกหัวนาค ย่าม ผ้าห่ม ฯลฯ
(ผ้ากั้งไทแดง แขวงหัวพัน ประเทศลาว ใชักั้นประตู)
                ผ้าพื้นบ้านภาคเหนืออีกประเภทหนึ่งเป็นผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ตุง หรือธงที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงไจ ตุงสามหาง
(ตุง)
                ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านในภาคเหนือยังทอกันอยู่ในหลายท้องถิ่น เช่น ในบริเวณอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และในหลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจากกรรมวิธีพื้นบ้านโบราณหลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าอีกหลายกลุ่มกระจายอยู่หลายจังหวัด เช่น กลุ่มทอผ้าอำเภอลอง จังหวัดแพร่ กลุ่มทอผ้าไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
(ซิ่นกะเหรี่ยง)
                ผ้าพื้นเมืองภาคเหนืออีกประเภทหนึ่ง คือ ผ้าทอมือกลุ่มน้อย เช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และผ้าทอของชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ผ้าทอเปล่านี้จะมีรูปแบบและกรรมวิธีในการทอที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมและขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาในกลุ่มของตน เช่น ผ้ากะเหรี่ยง นิยมทอลายขวางเป็นชิ้นเล็กๆ สีแดงและดำ เมื่อนำมาทอเครื่องนุ่งห่มจะเย็บต่อกันจนมีขนาดตามความต้องการ ส่วนชาวไทยภูเขานั้นมีกรรมวิธีในการทอผ้าต่างออกไป มักหน้าแคบ ตกแต่งเป็นลวดลายด้วยการปัก ประดับเครื่องเงิน ลูกปัด เพื่อเพิ่มสีสันให้งดงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น