วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555


1.ผ้าไทยภาคใต้


  ผ้าที่ทอในบริเวณดินแดนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจรดเขตประเทศมาเลเซีย ที่มีความยาวของพื้นที่ประมาณ ๗๕๐ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นแผ่นดินแคบและคาบสมุทร ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทอดไปตามอ่าวไทย ได้แก่ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกขึ้นไปทางด้านทิศตะวันตกบนผืนแผ่นดินมีเทือกเขาสำคัญที่เป็นสันของคาบสมุทร ได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเชื่อมมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทอดยาวลงไปจนถึงเขตจังหวัดกระบี่ ต่อลงไปเป็นเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวลงไปจนสุดเขตประเทศไทย เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญๆ ของภาคใต้ที่ไหลจากทิศตะวันตกผ่านที่ราบไปสู่ทะเลด้านทิศตะวันออก ทำให้เกิดปากแม่น้ำเป็นอ่าวสำหรับจอดเรือเพื่อการคมมนาคมและท่าเรือประมงได้เป็นอย่างดี เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน และอ่าวสงขลา นอกจากนี้แม่น้ำเหล่านี้ยังนำความชุ่มชื้นไปสู่บริเวณภาคใต้ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมในที่ราบผืนแผ่นดิน ทั้งยังนำโคลนตมไปทับถมกันในบริเวณปากแม่น้ำ ผสานเข้ากับทรายที่เกิดจากการพัดเข้าหาฝั่งของคลื่นลมจากทิศตะวันออก ทำให้เกิดสันทรายที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้เกิดชุมชนตลอดแนวชายผั่งมาแต่โบราณ

   ลักษณะเช่นนี้นอกจากทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดการผสมผสานดันด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะกระจายไปสู่ที่อื่นๆ การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาวและลูกหลานของกรมการเมือง ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ กล่าวกันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้ความสนใจการทอผ้ามาก จนถึงขั้นเคยมีเรื่องหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลาในปีพ.ศ. ๒๓๒๐ เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งให้กรมการเมืองออกไปเกณฑ์เอาช่างทอผ้าซึ่งเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองสงขลา และบุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาไม่พอใจ จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับชาวเมืองสงขลาเกินขอบเขต
                เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วสืบต่อมาเรื่อยๆ จากการทอผ้ายกสำหรับใช้ในหมู่เจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นสูงก่อนที่แพร่หลายไปสู่ชาวเมืองและประชาชนทั่วไป
 ผ้ายกนครศรีธรรมราช
                ผ้ายกนครศรีธรรมราช หรือ ผ้ายกเมืองนครฯ โดยเฉพาะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมากในสมัยโบราณ ผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกประเภทหนึ่งคือ ผ้าทอพุมเรียง ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไชยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร ประชาชนในตำบลพุมเรียงนั้นมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เฉพาะกลุ่มที่ทอผ้านั้นส่วนมากเป็นไทยมุสลิม กล่าวกันว่าถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรีคราวเดียวกับพวกช่างทองและช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช การทอผ้าที่พุมเรียงนั้นแต่เดิมคงจะเป็นการทอผ้าขึ้นใช้ในครัวเรือนและกลุ่มชนของตน
                บริเวณพื้นที่ชายผั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้เป็นบริเวณที่มีวัฒนธรรมผสมกันระหว่างพ่อค้าต่างชาติและคนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน ทำเหมืองแร่และเกษตรกรรม บริเวณจังหวัดตรังเป็นบริเวณหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นมักจะนำวิชาชีพที่ตนมีความชำนาญติดตัวไปด้วยเสมอ จนเมื่อตั้งถิ่นฐานได้อย่างมั่นคงแล้วก็จะประกอบอาชีพและทำงานที่ตนถนัดขึ้นในกลุ่มของตน รวมทั้งการทอผ้าด้วย เช่น ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ
ผ้าบ้านนาหมื่นศรี
ผ้าเกาะยอ
ผ้ายกพุมเรียง
                นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี  ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น